เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง ๑๔.๖๓ เมตร ยาว ๒๒.๖๐ เมตร สูง ๑๕ เมตร หลังคา ๒ ชั้น ๓ ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบ มุงกระเบื้องเกล็ด สร้างตามสถาปัติยกรรมผสมผสานไทย จีน (Chinos Thai) ที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัติยกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังจะเห็นจากหลังคาที่ใช้ลักษณะวัดจีน ซึ่งไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ นอกจากนี้ยังมีการใช้กระเบื้องสีตกแต่งหน้าบันตามแบบจีน โดยหน้าบันของศาลาการเปรียญมีลวดลายเกลียวใบเทศพวงอุบะ รูปนกหงส์และดอกพุดตาล
ตัวอาคารมีระเบียงด้านหน้าและด้านหลัง ซุ้มประตูหน้า ๓ ซุ้ม ประตูหลัง ๒ ซุ้ม ประตูข้างด้านทิศเหนือ ๑ ซุ้ม เป็นลายปูนปั้นปิดทองรูปดอกไม้ ยอดซุ้มปูนปั้นลายประแจจีน บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำเป็นลายเครือเถาลายดอกไม้มีสัตว์นานาชนิด ด้านล่างบานประตูและหน้าต่าง ช่างฝีมือเขียนลายรดน้ำแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยในสมัยโบราณที่ผูกพันกับวัด ผ่านขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ บางบานแสดงการละเล่นสมัยก่อนเช่น หัวล้านชนกัน ฐานของตัวอาคารเป็นฐานสิงห์