ประวัติ


พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าในพระบวรพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ พระศาสนาตลอดรัชสมัยเป็นเอนกอนันต์ ทรงใช้พระราชทรัพย์ในการบูรณะปฏิสังขรวัดทั้งในและนอกพระนครเป็นอันมาก พร้อมกันนั้นยังทรงสร้างวัดขึ้น ๓ วัดในรัชสมัย และ ๑ ในนั้นคือวัดเทพธิดารามวรวิหาร

วัดเทพธิดาราม เมื่อเริ่มสร้างยังไม่ได้ตั้งชื่อวัดนั้นเรียกกันว่าวัดพระยาไกรหลวง สันนิษฐานว่าน่าจะเรียกชื่อตามบริเวณที่ทรงโปรดฯ ให้สร้างซึ่งเป็นที่เรือกสวนไร่นา และคงเป็นที่ของพระยาไกร เจ้านายหรือขุนนางในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์ (ต้นราชสกุล "ลดาวัลย์" พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเอมน้อย ในรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างวัดเทพธิดารามวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ และสร้างสำเร็จเรียบร้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๒ และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพระราชพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๘๒ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดเทพธิดาราม" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) พระธิดาพระองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง มาก ในการสถาปนาวัดเทพธิดารามนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) ได้ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากร่วมในการก่อสร้างโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย


พระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) เป็นพระราชธิดาองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาบาง ประสูติเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๕๔ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑ ปีมะเแม เป็นพระราชธิดาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาและโปรดปรานเป็นพิเศษ เพราะทรงมีพระปรีชาสามารถรับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างใกล้ชิด และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ได้รักษากุญแจพระคลังข้างในและว่าพนักงานต่างๆ คือ พระสุคนธ์และพระภูษา ทรงกำกับแจกเบี้ยหวัดฝ่ายใน และทรงให้การอุปการะแก่ผู้คนเป็นจำนวนมาก รวมถึงหลวงสุนทรโวหาร (ภู่) ยามตกทุกข์ได้ยากก็ได้รับการอุปการะจากพระองค์ โปรดให้แต่งกลอนถวาย และประทานรางวัลให้เลี้ยงชีพพักหนึ่งจนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์

เมื่อพระชันษา ๒๕ ปี พระราชบิดาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพธิดาราม เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเมื่อพระชันษา ๒๗ ปี วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๘๑ ปีจอ สัมฤทธิศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นทรงกรมมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า“กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๘๘ ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง พระชันษา ๓๕ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๓๘๘ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง (ศักราชขึ้นปีใหม่เป็นเดือนเมษายน)


ความเป็นมาโรงเรียนธรรมวิลาศ

จากคำบอกเล่าของพระเทพวิสุทธิเมธี (แผ่ว ปรกฺกโม) เจ้าอาวาสวัดเทพธิดารามวรวิหาร รูปที่ ๑๑ วัดเทพธิดารามวรวิหารเป็นวัดที่ได้มีการจัดให้มีการศึกษาสำหรับพระภิกษุ สามเณรมาแต่เดิม ต่อมาโรงเรียนธรรมวิลาศจึงถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีสำหรับพระภิกษุ สามเณรทั้งวัดเทพธิดารามและวัดโดยรอบ